จป. หัวหน้างาน การแต่งตั้งและขึ้นทะเบียน

การแต่งตั้ง เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ระดับหัวหน้างาน หรือ จป. หัวหน้างาน ให้สอดคล้องตามที่กฎกระทรวงฯ กำหนด เป็นกิจกรรมหนึ่งที่สำคัญของสถานประกอบกิจการหลายแห่งต้องดำเนินการ

 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

กฎกระทรวง การจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน บุคลากร หน่วยงาน หรือคณะบุคคล เพื่อดำเนินการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการ พ.ศ. ๒๕๖๕ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๖๕

 

การประเมินความสอดคล้องกับกฎหมาย

เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ระดับหัวหน้างาน ตามกฎกระทรวงฯ ระบุอยู่ใน ส่วนที่ ๑ เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานโดยตำแหน่ง โดยสถานประกอบกิจการที่ต้องมีการแต่งตั้ง จป. หัวหน้างาน คือ

สถานประกอบกิจการ ตามบัญชี ๑ และบัญชี ๒ ที่มีลูกจ้าง ๒ คนขึ้นไป

สถานประกอบกิจการบัญชี ๓ ที่มีลูกจ้าง ๒๐ คนขึ้นไป  (ดูบัญชีท้ายกฎกระทรวงฯ)

ให้แต่งตั้งจาก ลูกจ้างระดับหัวหน้างาน ทุกคน

 

คุณสมบัติของ เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ระดับหัวหน้างาน

๑. ผ่านการอบรมหลักสูตร เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ระดับหัวหน้างาน

๒. เคยเป็น เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ระดับหัวหน้างาน ตามกฎกระทรวง มาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ๒๕๔๙

๓. มีคุณสมบัติตามข้อ ๑๕ ข้อ ๑๘ หรือข้อ ๒๑

 

ขั้นตอนและแนวทางที่แนะนำ ในการดำเนินการแต่งตั้ง

ขั้นตอนแรก : ประเมินความสอดคล้องกับกฎหมาย ว่า โรงงาน / บริษัท มีพนักงาน (ลูกจ้าง) กี่คน และอยู่ในบัญชี ๑ หรือ ๒ หรือ ๓ ตามบัญชีท้ายกฎกระทรวง

ขั้นตอนที่ ๒ : ทำบัญชีรายชื่อ ลูกจ้าง ระดับหัวหน้างานทุกคนที่มีในโรงงาน โดยพิจารณาจากความหมายของคำว่า หัวหน้างาน ตาม พระราชบัญญัติ ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ๒๕๕๔

หัวหน้างาน หมายความว่า ลูกจ้างซึ่งทำหน้าที่ควบคุม ดูแล บังคับบัญชา หรือ สั่งให้ลูกจ้างทำงานตามหน้าที่ของหน่วยงาน

ขั้นตอนที่ ๓ : นำบัญชีรายชื่อมาพิจารณา ดังนี้

  • กลุ่มแรก ขึ้นทะเบียน เป็น จป. ระดับหัวหน้างาน มาแล้วตาม กฎกระทรวง มาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ๒๕๔๙ และมีเลขทะเบียนอยู่แล้วกับสถานประกอบกิจการ  ซึ่ง รายชื่อกลุ่มนี้ ไม่ต้องดำเนินการใดๆ (ตามบทเฉพาะกาล) แต่อาจจะ ทบทวนหน้าที่ของ จป. ระดับหัวหน้างาน ตามกฎกระทรวงฯ ฉบับ ปี ๒๕๖๕ ก็ได้
  • กลุ่มที่สอง เคยขึ้นทะเบียน เป็น จป. ระดับหัวหน้างาน มาแล้วตาม กฎกระทรวง มาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ๒๕๔๙ แต่ยังไม่มีเลขทะเบียนอยู่กับสถานประกอบกิจการปัจจุบัน  โดย รายชื่อกลุ่มนี้ ให้ดำเนินการประกาศแต่งตั้ง และขึ้นทะเบียนได้เลย โดยไม่ต้องอบรมตามหลักสูตรอบรมใหม่ (ประกาศกรมฯ ปี ๒๕๖๖) : เข้าเงื่อนไข ข้อ ๘ (๒)
  • กลุ่มที่สาม รายชื่อหัวหน้างาน ที่ยังไม่เคยขึ้นทะเบียนเป็น จป. ระดับหัวหน้างาน หรือ จป. ระดับใดๆ เลย ให้ดำเนินการประกาศแต่งตั้ง เป็น จป. ระดับหัวหน้างาน และส่งเข้าอบรมตามหลักสูตรใหม่ ก่อนขึ้นทะเบียน
  • กลุ่มที่สี่ เคยเป็น จป. ระดับเทคนิค หรือ ผ่านการอบรมหลักสูตร จป. ระดับเทคนิค ให้ดำเนินการประกาศแต่งตั้ง และขึ้นทะเบียนได้เลย : เข้าเงื่อนไข ข้อ ๘ (๓)
  • กลุ่มที่ห้า เคยเป็น จป. ระดับเทคนิคขั้นสูง หรือ ผ่านการอบรมหลักสูตร จป. ระดับเทคนิคขั้นสูง ให้ดำเนินการประกาศแต่งตั้ง และขึ้นทะเบียนได้เลย : เข้าเงื่อนไข ข้อ ๘ (๓)

*** สมาชิกเว็บไซต์ jorporhnoy สามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มแต่งตั้ง จป. ระดับหัวหน้างาน ได้ในเมนู ดาวน์โหลดกฎหมาย

 

หน้าที่ของ เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ระดับหัวหน้างาน

๑. กำกับ ดูแล ลูกจ้างในหน่วยงานที่รับผิดชอบ ให้ปฏิบัติตามคู่มือว่าด้วยความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของสถานประกอบกิจการ

๒. วิเคราะห์งานในหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อค้นหาความเสี่ยงหรืออันตรายเบื้องต้นจากการทำงาน โดยอาจร่วมดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิค ระดับเทคนิคขั้นสูง หรือระดับวิชาชีพ

๓. จัดทำคู่มือว่าด้วยความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของหน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยร่วมดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิค ระดับเทคนิคขั้นสูง หรือระดับวิชาชีพ เพื่อเสนอคณะกรรมการความปลอดภัย หรือนายจ้าง แล้วแต่กรณี และทบทวนคู่มือดังกล่าวตามที่นายจ้างกำหนด โดยนายจ้างต้องกำหนดให้มีการทบทวนอย่างน้อยทุก ๖ เดือน

๔. สอนวิธีการปฏิบัติงานที่ถูกต้องแก่ลูกจ้างในหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการทำงาน

๕. ตรวจสอบสภาพการทำงานของเครื่องจักร เครื่องมือ และอุปกรณ์ ให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัยก่อนลงมือปฏิบัติงานประจำวัน

๖. กำกับ ดูแลการใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลของลูกจ้างในหน่วยงานที่รับผิดชอบ

๗. รายงานการประสบอันตราย การเจ็บป่วย หรือการเกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญ อันเนื่องจากการทำงานของลูกจ้างต่อนายจ้าง และแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิค ระดับเทคนิคขั้นสูง หรือระดับวิชาชีพ สำหรับสถานประกอบกิจการที่มีหน่วยงานความปลอดภัย ให้แจ้งต่อหน่วยงานความปลอดภัยทันทีที่เกิดเหตุ

๘. ตรวจสอบหาสาเหตุการประสบอันตราย การเจ็บป่วย หรือการเกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญอันเนื่องจากการทำงานของลูกจ้างร่วมกับเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับระดับเทคนิค ระดับเทคนิคขั้นสูง หรือระดับวิชาชีพ และรายงานผลการตรวจสอบ รวมทั้งเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาต่อนายจ้าง เพื่อป้องกันการเกิดเหตุโดยไม่ชักช้า

๙. ส่งเสริม และสนับสนุน กิจกรรมความปลอดภัยในการทำงาน

๑๐. ปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยในการทำงานอื่น ตามที่นายจ้าง หรือ เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับบริหารมอบหมาย

คำต้นหา : เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ระดับหัวหน้างาน , จป. หัวหน้างาน , กฎกระทรวง จป. , การแต่งตั้ง จป. , การขึ้นทะเบียบ จป. , กฎกระทรวง การจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน

ไปที่หน้าสารบัญรายการบทความ

คลิกที่นี่

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า