หยุดงานจากอุบัติเหตุในงาน ถือเป็นวันลาป่วยหรือไม่?

หลาย ๆ ครั้งมักจะพบกับคำถาม ของ จป. หรือ ฝ่ายบุคคล ถามว่า หยุดงานจากอุบัติเหตุในงาน หรือใน พ.ร.บ.เงินทดแทนจะเรียกว่า "ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน" ถือว่าเป็นการ "ลาป่วย" ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ที่ต้องจ่ายค่าจ้าง ๓๐ วัน/ปี หรือไม่? ในบทความนี้ jorporhnoy.com จะมาบอก

 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ก่อนอื่นเรามาดูข้อกำหนดของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกันก่อน ซึ่งกรณีนี้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องนำมาพิจารณา ๒ ฉบับด้วยกัน

ฉบับแรก คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ให้เราไปดู มาตรา ๓๒ (วรรคแรก) จะระบุว่า "ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง การลาป่วยตั้งแต่สามวันทำงานขึ้นไป นายจ้างอาจให้ลูกจ้างแสดงใบรับรองแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่ง หรือของสถานพยาบาลของทางราชการ..." แล้วข้ามไปดูวรรคสาม

(วรรคสาม) ระบุว่า "วันที่ลูกจ้างไม่สามารถทำงานได้เนื่องจากประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นเนื่องจากการทำงาน และวันลาเพื่อคลอดบุตรตามมาตรา ๔๑ มิให้ถือเป็นวันลาป่วยตามมาตรานี้"

ฉบับที่ ๒ พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๕

ประสบอันตราย หมายความว่า การที่ลูกจ้างได้รับอันตรายแก่กาย หรือผลกระทบแก่จิตใจ หรือถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานหรือป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่นายจ้างหรือตามคำสั่งของนายจ้าง

เจ็บป่วย หมายความว่า การที่ลูกจ้างเจ็บป่วยหรือถึงแก่ความตายด้วยโรคซึ่งเกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงานหรือเนื่องจากการทำงาน

 

แนวทางการวิเคราะห์ว่า เป็นการ หยุดงานจากอุบัติเหตุในงาน หรือไม่?

อันดับแรก ให้เราพิจารณาว่า อุบัติเหตุนั้น เข้าเงื่อนไขตามความหมายของคำว่า "ประสบอันตราย" ตาม พ.ร.บ. เงินทดแทนหรือไม่? โดยพิจารณาจาก กิจกรรมที่พนักงานปฏิบัติขณะเกิดอุบัติเหตุนั้น...

ข้อแรกพิจารณาว่า เป็นการปฏิบัติงานตามหน้าที่หรือไม่? อาจดูได้จาก job description หรือ

ข้อสองพิจารณาจาก เป็นคำสั่งของนายจ้าง (ให้ไปดูความหมายของคำว่า "นายจ้าง" ประกอบ) หรือ

ข้อสามพิจารณาจาก เป็นการรักษาประโยชน์ให้นายจ้าง

** โดยที่เงื่อนไขเกี่ยวกับ "เวลา" หรือ "เวลาทำงาน" มักจะไม่นำมาพิจารณา หรือนำมาพิจารณาเป็นปัจจัยเสริมเท่านั้น (จากประสบการณ์ที่เคยยื่น, ติดต่องานกองทุนเงินทดแทน กับสำนักงานประกันสังคม)

ซึ่งถ้าเข้าเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่ง ก็จะถือว่าอุบัติเหตุนั้น เป็นการ "ประสบอันตราย" ตาม พ.ร.บ. เงินทดแทน เราก็ดำเนินการยื่น กท. ๑๖ ส่งให้กับสำนักงานประกันสังคมจังหวัด หรือสำนักงานประกันสังคมพื้นที่ ภายใน ๑๕ วันนับแต่วันที่นายจ้างทราบ (แต่อย่าลืมส่ง กท.๔๔ ให้กับทางสถานพยาบาลด้วยนะครับ) แล้วกองทุนเงินทดแทน โดยสำนักงานประกันสังคมจะดำเนินการพิจารณาจ่ายค่าหยุดงาน หรือที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า "ค่าทดแทน" เป็นรายเดือนให้แก่ลูกจ้างในอัตรา ๗๐% ของอัตราค่าจ้างในวันที่หยุดงาน

สงสัยกันไหมครับว่า ค่าหยุดงานจากอุบัติเหตุในงาน ทำไมได้ที่ ๗๐% ของค่าจ้าง ทำไมไม่ได้ ๑๐๐% ของค่าจ้างเหมือนวันลาป่วย!!!

จป. หน่อย ก็ทำงานเป็นทั้ง จป. และ เป็น HR มาก็หลายปี ก็ยังไม่ทราบเจตนารมณ์ที่แท้จริง แต่ก็คิดเอาเองว่าน่าจะเป็นเพราะ "ไม่อยากให้มีอุบัติเหตุจากการทำงานเกิดขึ้น" อยากให้คนทำงานระมัดระวัง โดยร่วมมือปฏิบัติตามกฎความปลอดภัย

หลาย ๆ ครั้ง จป. หน่อย ก็มักจะเน้นย้ำพนักงานบ่อย ๆ ว่า การปฏิบัติงานต้องระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุนะ เพราะถ้าหยุดงานก็จะได้แค่ ๗๐% แถมไม่ได้เบี้ยขยัน ไม่ได้ค่ากะ ไม่ได้ทำโอทีอีกต่างหาก มีแต่เสียกับเสีย

กรณีศึกษา อุบัติเหตุในงาน

๑.  พนักงานแผนกผลิตถูกใบหินเจียรบาดนิ้วมือ ขณะเจียรแต่งผิวชิ้นงาน เวลา ๐๙.๓๐ น. >> เข้าเงื่อนไขเป็นการ "ประสบอันตราย"

๒.  ช่างซ่อมบำรุงเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ ระหว่างทางขณะเดินทางกลับจากปฏิบัติงานต่างจังหวัด เวลา ๐๒.๑๕ น. (เคสนี้ ประกันสังคมขอเอกสารมอบหมายงานเพิ่มเติม)  >> เข้าเงื่อนไขเป็นการ "ประสบอันตราย"

๓. อยากถามว่า เคสพนักงานคลังสินค้าลื่นหกล้ม จากการเข้าไปปิดก๊อกน้ำด้านหลังโรงงาน ที่ถูกเปิดทิ้งไว้จนไหลนองพื้น >> เคสนี้เข้าเงื่อนไขหรือไม่?

 

คำค้นหา : หยุดงาน , อุบัติเหตุในงาน , กฎหมายแรงงาน , กฎหมายเงินทดแทน , หยุดงานเนื่องจากอุบัติเหตุในงาน , ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน , ลาป่วย , ประสบอันตราย , เงินทดแทน , สำนักงานประกันสังคม , สำนักงานกองทุนเงินทดแทน , อุบัติเหตุในการทำงาน , กท.๔๔ , กท.๑๖

ไปที่หน้าสารบัญรายการบทความ

คลิกที่นี่

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า